กระบวนการพัฒนาหลักสูตร



http://www.youtube.com/watch?v=fxg8Zr-lJEI

การพัฒนาหลักสูตร
                การพัฒนาหลักสูตรมีความหมาย 2 ลักษณะ หมายถึง การสร้างหลักสูตรขึ้นใหม่โดยที่ยังไม่มีหลักสูตรมาก่อน  ลักษณะที่สองหมายถึงการปรับปรุงแก้ไขหลักสูตรที่มีอยู่แล้วให้เหมาะสมหรือสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่นำหลักสูตรไปใช้ด้วย
                การพัฒนาหลักสูตรเป็นกระบวนการที่เป็นระบบ ตามที่ นักวิชาการได้กล่าวไว้ในลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนี้
                Henson (2001) กล่าวถึงรูปแบบกระบวนการพัฒนาหลักสูตรของ ทาบา (Taba ’s Invert Model) ซึ่งเริ่มต้นการพัฒนาหลักสูตรในชั้นเรียนโดยผู้สอนมีส่วนร่วมในการพัฒนา ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบอื่น ๆ ที่เริ่มต้นการพัฒนาหลักสูตรจากหน่วยงานกลางของรัฐ ประกอบด้วย 8 ขั้นตอน ดังนี้
                1. วินิจฉัยความต้องการ การใช้เครื่องมือประเมินผลความต้องการ
               2. กำหนดลักษณะเฉพาะของจุดประสงค์รวมทั้งมโนทัศน์และเจตคติของผู้เรียน วิธีการคิด คุณลักษณะและทักษะที่พึงประสงค์
                3. เลือกเนื้อหาอย่างรอบคอบ และเขียนเหตุผลในการเลือกเนื้อหานั้น
                4. จัดระบบเนื้อหาจากง่ายไปยาก
                5. คัดเลือกประสบการณ์การเรียนรู้
                6. จัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อให้เหมาะสมกับระดับพัฒนาการของผู้เรียน
                7. การประเมินผลหน่วยการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
                8. ตรวจสอบความสมดุลระหว่างภาระงานต่าง ๆ และความต่อเนื่องของเนื้อหา เพื่อรับรองว่ากิจกรรมให้โอกาสผู้เรียนในการเรียนรู้วิธีเชื่อมโยงความรู้
                นฤมล (2548) ได้กล่าวถึงขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรของ Ralph Tyler ไว้ดังนี้
                1. กำหนดจุดมุ่งหมาย
                2. เลือกแนวทางเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมาย
                3. จัดแนวทางเหล่านั้น
                4. ประเมินผลที่ได้รับ
                Saylor amd Alexander (อ้างอิงใน สุนีย์.2546) ได้ศึกษาแนวคิด และรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของ
ไทเลอร์ และทาบา และนำมาปรับขยายให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อสนองความต้องการของผู้เรียนเป็นรายบุคคลมากยิ่งขึ้น โดยมีขั้นตอนดังนี้
                1. กำหนดเป้าหมาย จุดมุ่งหมาย และขอบเขต (goals, objectives, and domains) นักพัฒนาหลักสูตรควรกำหนดเป้าหมายและจุดมุ่งหมายของหลักสูตรเป็นสิ่งแรก เป้าหมายในแต่ละประเด็นควรบ่งบอกเพียงขอบเขตหนึ่งของหลักสูตร (a  curriculum domain) ซึ่งได้เสนอขอบเขต 4 ขอบเขตที่สำคัญที่ควรให้ความสนใจ ซึ่งได้แก่ พัฒนาการส่วนบุคคล (personal development) มนุษย์สัมพันธ์ (human relation) ทักษะการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง (continued learning skills และความชำนาญเฉพาะด้าน(specialization)อย่างไรก็ตามอาจมีขอบเขตที่สำคัญอื่นๆ อีก  ซึ่งอาจจะพิจารณาตามความเหมาะสมกับผู้เรียน และลักษณะของสังคม
                เป้าหมาย จุดมุ่งหมาย และขอบเขตต่าง ๆ จะได้รับคัดเลือกจากการพิจารณาตัวแปรภายนอก (external variables) อย่างรอบคอบ ตัวแปรดังกล่าวได้แก่ ทัศนะและความต้องการของสังคม ข้อบังคับทางกฎหมายของรัฐ และข้อการค้นพบการวิจัยต่าง ๆ ตลอดจนปรัชญาของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางด้านหลักสูตร เป็นต้น
                2. การออกแบบหลักสูตร (curriculum design) นักพัฒนาหลักสูตรจะต้องวางแผนออกแบบหลักสูตร ตัดสินใจเกี่ยวกับการเลือกการจัดเนื้อหาสาระ การเลือกประสบการณ์การเรียนรู้ที่เหมาะสม และสอดคล้องกับเนื้อหาสาระที่ได้เลือกมาแล้ว
                3. การใช้หลักสูตร (curriculum implementation) เป็นขั้นตอนของการนำหลักสูตรไปใช้ โดยครูผู้สอนควรวางแผนและจัดทำแผนการสอนในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งเลือกวิธีการสอน และวัสดุ สื่อการเรียนการสอน ที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามที่กำหนดไว้
                4. การประเมินผลหลักสูตร (curriculum evaluation) เป็นขั้นตอนสุดท้ายของรูปแบบนี้ นักพัฒนาหลักสูตร และครูผู้สอนจะต้องตัดสินใจเลือกเทคนิคการประเมินผลที่สามารถตรวจสอบความสำเร็จของหลักสูตรว่าบรรลุเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ ควรปรับปรุงแก้ไขหรือควรยกเลิกหลักสูตรดังกล่าว
                Parkay and Hass (2000) กล่าวว่า หลักสูตรเป็นแผนสำหรับการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งได้มาจากการประเมินความต้องการ และการเขียนพันธกิจ (mission) เป้าหมาย จุดประสงค์ เนื้อหากลวิธีการสอน รวมทั้งการประเมินผล ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
               1. การวางแผนหลักสูตร คือ กระบวนการรวบรวม จำแนกสังเคราะห์ และเลือกข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กัน ข้อมูลนี้ใช้ออกแบบประสบการณ์ที่จะส่งเสริมผู้เรียนให้บรรลุเป้าหมายของหลักสูตร
               2.การกำหนดจุดประสงค์ของหลักสูตรได้รับพิจารณาจากทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอิทธิพลของสังคม การพัฒนามนุษย์ การเรียนรู้ และพุทธิปัญญา
               3. การตัดสินใจในขณะวางแผนหลักสูตรอย่างรอบคอบและเชื่อมโยงไปยังเกณฑ์ (criteria)
             4. การวางแผนการสอน คือ กระบวนการหลักของการวางแผนหลักสูตร ผู้สอนควรวางแผนการสอนโดยอาศัยแนวทางจากทฤษฎีหรืองานวิจัยที่เกี่ยวของกับอิทธิพลของสังคม การพัฒนามนุษย์ การเรียนรู้ และพุทธิปัญญา หลักสูตรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแต่ละคนมารับประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกัน จากผู้สอน ซึ่งผู้เรียนมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเกี่ยวกับหลักสูตรนั้น
                นิรมลและคณะ (2542) ได้กล่าวถึงกระบวนการในการพัฒนาหลักสูตร ดังนี้
                1. การวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลพื้นฐานจะกระทำก่อนที่จะลงมือร่างหลักสูตร ข้อมูลที่จะต้องวิเคราะห์และรวบรวม มักจะได้แก่ ปรัชญาการศึกษา ทฤษฎีการเรียนรู้ ธรรมชาติและพัฒนาการของผู้เรียน ลักษณะของสังคมและวัฒนธรรม
                2. การกำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตรเป็นการกำหนดความคาดหวังว่าผู้เรียนที่จบหลักสูตรนี้จะมีคุณลักษณะอย่างไร และความคาดหวังด้านอื่น ๆ ว่าเมื่อใช้หลักสูตรแล้วจะได้รับผลอะไรบ้าง ซึ่งจุดมุ่งหมายของหลักสูตรจะกำหนดไว้ก่อนที่จะเลือกเนื้อหาสาระบรรจุในหลักสูตร
                3. การเลือกและการจัดลำดับเนื้อหาและประสบการณ์การเรียนรู้ หมายถึงการเลือกจัดเนื้อหาความรู้จะเลือกจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเรียนและเกิดการเรียนรู้ รวมทั้งคุณลักษณะตรงตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
                4. การกำหนดแนวทางการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน คือ การกำหนดวิธีการที่จะตรวจสอบว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จนบรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้แต่ละวิชาตลอดจนหลักสูตรแล้วหรือยัง
                5. การตรวจสอบคุณภาพหลักสูตรและปรับแก้ก่อนนำไปใช้ เป็นการศึกษาความเป็นไปได้ของหลักสูตรที่ร่างเสร็จแล้ว และปรับปรุงแก้ไขบางส่วนก่อนนำไปใช้จริง ซึ่งอาจจะใช้วิธีการประชุมสัมมนา ให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ตรงตรวจสอบหรืออาจทำการวิจัยเอกสารหลักสูตร ตลอดจนการทดลองใช้หลักสูตรแบบนำร่อง โดยมีคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการทดลองในแต่ละระยะอย่างเป็นระบบ เพื่อรวบรวมข้อมูลและสังเคราะห์ข้อมูลแล้วปรับแก้ให้ชัดเจนขึ้น
                6. การนำหลักสูตรไปใช้ คือ การนำหลักสูตรไปลงมือปฏิบัติ หรือนำหลักสูตรไปจัดการเรียนการสอนตามกระบวนการของการจัดการเรียนการสอนนั่นเอง
                7. การประเมินผลการใช้หลักสูตร เป็นการตรวจสอบว่าหลักสูตรที่นำไปใช้แล้วนั้นบรรลุจุดมุ่งหมายทั้งหมดหรือมากน้อยเพียงใด

                8. การปรับปรุงแก้ไขหลักสูตร จะกระทำเมื่อเรารู้ผลจากการประเมินผลการใช้หลักสูตรแล้ว ถ้าพบข้อบกพร่องก็จะต้องมีการปรับปรุงหรือแก้ไขหลักสูตร
                สรุปได้ว่า กระบวนการพัฒนาหลักสูตรโดยทั่วไปสอดคล้องกับองค์ประกอบของหลักสูตร ซึ่งมี 5 ขั้นตอน คือ  1) การศึกษาข้อมูลพื้นฐานเพื่อการพัฒนาหลักสูตร  2) กำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร  3) กำหนดเนื้อหาของหลักสูตร  4) นำหลักสูตรไปใช้  5) ประเมินหลักสูตร