บทนำ





           การพัฒนาหลักสูตรคือ การเปลี่ยนแปลงปรับปรุงหลักสูตรของสถานศึกษาโรงเรียนเดิมให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ทั้งในด้านการวางจุดมุ่งหมาย การจัดเนื้อหาวิชา การเรียนการสอนเพื่อให้เหมาะสมและตรงกับความต้องการของนักเรียน เพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายอันใหม่ที่วางไว้ การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบหรือเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ตั้งแต่จุดมุ่งหมายและวิธีการ และการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรนี้จะมีผลกระทบกระเทือนทางด้านความคิดและความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
           กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ให้เป็นหลักสูตรแกนกลางของประเทศ โดยกำหนดจุดหมายและมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดเป็นเป้าหมายและกรอบทิศทางในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้เป็นคนดี มีปัญญา มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีศักยภาพในการแข่งขันเวทีระดับชาติและเวทีโลก พร้อมกันนี้ได้รับกระบวนการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ที่มุ่งเน้นกระจายอำนาจทางการศึกษา ให้ท้องถิ่นและสถานศึกษามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความต้องการของท้องถิ่น และจากการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ผลการวิจัย เรื่องการใช้หลักสูตร พบว่า หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้น ฐานพุทธศักราช 2544 มีจุดที่น่าพึงพอใจหลายประการ เช่น ช่วยส่งเสริมการกระจายอำนาจทางการศึกษา ทำให้ท้องถิ่นและสถานศึกษามีส่วนร่วมและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น มีแนวคิดหลักการในการพัฒนาผู้เรียนแบบองค์รวมอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่เป็นปัญหาความไม่ชัดเจนของหลักสูตรหลายประการ ทั้งในส่วนของเอกสารหลักสูตร การนำไปใช้สู่การปฏิบัติและผลผลิตที่เกิดจากการใช้หลักสูตร ประกอบกับ ข้อมูลจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 เกี่ยวกับแนวทางพัฒนาคนในสังคมไทยและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนา เยาวชนจึงเกิดการทบทวนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 ที่มีความเหมาะสมชัดเจน ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนและกระบวนการนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติทั้งในระดับเขตพื้นที่และสถานศึกษา

             ดังนั้น ในการพัฒนาหลักสูตรไปใช้ในโรงเรียน ความรู้ความเข้าใจเรื่องหลักสูตร เป็นสิ่งสำคัญมาก เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการกำหนดการทำงานทางการศึกษาและต่อการกำกับบริหารงานวิชาการของโรงเรียน เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงระบบการทำงานของโรงเรียน ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการจัดการเรียนการสอนมีผลต่อคุณภาพด้านการเรียนการสอนของโรงเรียน ความรู้ความเข้าใจเรื่องหลักสูตรนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญขั้นพื้นฐานสำหรับผู้บริหาร ครูที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนและนักศึกษาครูในอนาคตข้างหน้าต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจอย่างลึกซึ่ง


วัตถุประสงค์
1.เพื่อศึกษาหลักสูตรของสถานศึกษาโรงเรียนปากจ่าวิทยา
2.เพื่อนำความรู้จากห้องเรียนไปเชื่อมโยงกับหลักสูตรสถานศึกษาตัวจริง
3.เพื่อให้นักศึกษาครูสร้างสมประสบการณ์ในการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรต่อไปในอนาคต
4.เพื่อฝึกฝนการทำงานรวมกันเป็นกลุ่มอย่างมีความสามัคคี
5.เพื่อฝึกฝนการลงพื้นที่ศึกษาและปฏิบัติจากสถานที่จริง
6.เพื่อพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ เช่น การบันทึกข้อมูลเสียง-ภาพในขณะสัมภาษณ์
7.เพื่อช่วยพัฒนาให้นักเรียนมีศักยภาพที่ดีในการเรียนของสถานศึกษาแห่งนี้


ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ได้รับความรู้ในการจัดทำหลักสูตรของสถานศึกษาโรงเรียนปากจ่าวิทยา
2. ได้รับความรู้เกี่ยวกับกระบวนการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนปากจ่าวิทยา
3. ได้ประสบการณ์การเรียนรู้จากสถานที่จริง
4. ได้มีความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้และการเผยแพร่ความรู้ทางอินเทอร์เน็ต
5. มีความรู้ในการเชื่อมโยงระหว่างหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กับหลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนปากจ่าวิทยา